ยูเนสโกประกาศ “บุคคลสำคัญของโลก” ประจำปี ๒๕๖๔

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส :

บุคคลสำคัญของโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔

ภาพวาดร5 & สมเด็จพระมหาสมณเจ้า

พระประวัติย่อ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประสูติเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๒ (ค.ศ. ๑๘๖๐) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ (ค.ศ. ๑๙๒๑) ที่กรุงเทพมหานคร มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาค-มานพ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และเจ้าจอมมารดาแพ ทรงได้รับการศึกษาในพระบรมมหาราชวัง ตามราชประเพณีในครั้งนั้น ทรงได้รับการเลี้ยงดูโดยเสด็จป้า คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา (พระองค์เจ้าบุตรี) ซึ่งเป็นบุคคลที่พระองค์ทรงเกรงพระทัย หรือให้ความเคารพมาโดยตลอด ทั้งเป็นผู้ทรงสอนเลขและสอนหนังสือไทย รวมทั้งทรงสอนให้พระองค์รู้จักพงศาวดาร วรรณคดี และเรื่องศาสนา โดยการอ่านเรื่องดังกล่าวให้พระองค์ฟัง ทรงเรียนการอ่าน การเขียน และการพูดภาษาอังกฤษกับครูชาวสก็อต  เมื่อพระชนมายุ ๑๔ ปี ทรงบรรพชาเป็นสามเณรตามราชประเพณีเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากทรงลาผนวชแล้ว ก็ทรงเพลิดเพลินในฆราวาสวิสัยเช่นคนหนุ่มทั่วไป แต่ก็ทรงเริ่มสนพระทัยและใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามากขึ้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นบุคคลต้นแบบสำหรับพระองค์  สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จมาเฝ้าพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ที่วัดบวรนิเวศวิหารอยู่เนืองนิตย์ พระองค์ได้ทรงใกล้ชิดกับพระอุปัชฌาย์ของพระองค์มาตั้งแต่ทรงพระดรุณ และได้ทรงศึกษาเรื่องกวีนิพนธ์ ดาราศาสตร์ และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากับพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ด้วย

จากประสบการณ์ของพระองค์เมื่อครั้งทรงพระดรุณ ความคุ้นเคยกับชีวิตพรหมจรรย์เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ รวมทั้งอิทธิพลของเสด็จป้า (กรมหลวงวรเสฐสุดา) และอิทธิพลของเสด็จพระอุปัชฌาย์ คือ สมเด็จพระมหาสมณ-เจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ กอปรกับทรงมีพระอัธยาศัยในทางธรรมมาแต่กำเนิด นำให้สมเด็จกรม  พระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตัดสินพระทัยทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเมื่อพ.ศ. ๒๔๒๒ (ค.ศ. ๑๘๗๙) เมื่อพระชนมายุ ๒๐ ปี และได้ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศจวบจนสิ้นพระชนม์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศ ผู้ทรงยังพระราชอาณาจักรให้รุ่งเรือง จนสามารถรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ในขณะที่ประเทศส่วนมากในเอเชียต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของประเทศยุโรปที่แผ่อิทธิพลเข้ามารุกราน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องทำบ้านเมืองแบบโบราณให้เป็นประเทศสมัยใหม่ เพื่อความเป็นอิสระเสรีและเป็นอารยประเทศ ทัดเทียมกับประชาคมโลกอย่างทันกาลเวลา พระองค์จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศ ปรับปรุงกฎหมาย ปฏิรูปสังคม เพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว เพื่อสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ได้เข้าร่วมโครงการปฏิรูปประเทศดังกล่าวด้วยพระองค์หนึ่ง และได้ทรงเป็นบุคคลสำคัญพระองค์หนึ่งในการปฏิรูปวัฒนธรรมและสังคมไทยให้กลายเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างศตวรรษที่ ๑๙ กับศตวรรษที่ ๒๐ อันที่จริงสมเด็จ     กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงทำหน้าที่ดังกล่าวนี้มาตั้งแต่ก่อนที่พระองค์จะทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้เข้ารับราชการประจำในกรมราชเลขา เป็นราชเลขานุการในกองอรรถคดี ทรงช่วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการติดตามนโยบายปฏิรูปการปกครองประเทศและการปรับปรุงแก้ไขระบบกฎหมายให้ดำเนินไปตามพระราชประสงค์ เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว พระองค์ก็ทรงมีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษในด้านการศึกษาและวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งได้ทรงเป็นผู้วางรากฐานในด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในประเทศไทยด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะขยายการศึกษาขั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้แพร่หลายไปทั่วพระราชอาณาจักร พระองค์ก็ทรงมอบความไว้วางใจให้สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นผู้ปรับปรุงระบบการศึกษาของชาติให้ทันสมัย สมเด็จกรมพระยา วชิรญาณวโรรสก็ได้ทรงพัฒนาระบบการศึกษาทั้งการศึกษาของคณะสงฆ์และการศึกษาของบ้านเมืองให้ทันสมัย ในเรื่องการศึกษาคณะสงฆ์นั้น ก็มีความหมายรวมไปถึงการพัฒนามาตรฐานการเรียน หลักสูตร และวิธีการสอบความรู้ในระบบการศึกษาของชาติ ที่จะนำไปใช้ทั่วพระราชอาณาจักรด้วย ทุกวันนี้เราใช้การศึกษาแบบสากล ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ตำรา หลักสูตร และการสอบ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาวโลก จึงเป็นเรื่องที่แทบจะคิดไม่ออกว่า ในการทำงานของสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสในครั้งนั้น ต้องทรงใช้ความเพียรพยายามเพียงไร ในการที่พระองค์ต้องรับรับหน้าที่ในการปฏิรูปดังกล่าวแล้ว ทั้งครูอาจารย์และประชุมชนในครั้งนั้นก็ยังตกอยู่ภายใต้ระบบการศึกษาแบบโบราณ ที่ยึดถือกันมาอย่างเหนียวแน่นเป็นเวลานับร้อยๆ ปี ฉะนั้น จึงไม่ต้องพูดถึงองค์ประกอบหรือเครื่องมือทางการศึกษาดังกล่าวมาข้างต้น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาแบบโบราณดังกล่าว สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสจึงต้องทรงพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งทรงพระนิพนธ์ตำรับตำราต่างๆ ขึ้นจำนวนมาก ซึ่งยังคงใช้ศึกษากันอยู่จนถึงทุกวันนี้ พระองค์ได้ทรงพระดำริวางรากฐานมหาวิทยาลัยขึ้นไว้ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) พร้อมทั้งได้ขยายการศึกษาของมหา-มกุฏราชวิทยาลัย ทั้งส่วนของพระภิกษุสามเณรและของกุลบุตรออกไปยังต่างจังหวัดด้วย พระองค์ได้ทรงอธิบายไว้ว่า การศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมควรดำเนินไปในช่องทางเดียวกัน จึงต่างฝ่ายต่างก็จะได้ช่วยพยุงซึ่งกันและกันให้ดำเนินเจริญก้าวหน้าไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณ- วโรรสทรงศึกษาทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา และภาษาศาสตร์ แล้วพระองค์ก็ทรงบูรณาการความรู้ทั้งหลายดังกล่าวไว้ในพระดำริและการทำงานของพระองค์ พระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่อง  เบญจศีลเบญจธรรม ซึ่งเป็นหลักศีลธรรมขั้นพื้นฐานที่คนทั่วไปควรรู้ ให้เป็นหนังสือสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา ทรงพระนิพนธ์หนังสือนวโกวาท ซึ่งเป็นคำสอนสำหรับผู้บวชใหม่ ให้เป็นหนังสือคู่มือที่กระทัดรัดสำหรับพระใหม่ ที่ยังใช้กันอยู่ทั่วประเทศจนถึงทุกวันนี้

การศึกษาระดับประถมและระดับมัธยมจะพัฒนาได้อย่างไร ในเมื่อรัฐบาลมีงบประมาณจำกัดทั้งประชาชนเองก็มีพลังความสามารถจำกัดด้วย สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงใช้ประโยชน์จากวัดทั้งหลายจำนวนเป็นพันที่มีอยู่ทั่วพระราชอาณาจักรอย่างชาญฉลาด โดยทรงเริ่มเปิดโรงเรียนขึ้นภายในพื้นที่ของวัดทั้งหลาย เนื่องจากวัดทั้งหลายเป็นทั้งศูนย์กลางของชุมชน ศูนย์กลางของวัฒนธรรมประเพณี และศูนย์กลางของการศึกษามาแต่เดิมแล้ว พระองค์เพียงแต่ทำให้การศึกษาสมัยใหม่ดำเนินควบคู่กันไปกับวัฒนธรรมดั้งเดิมเท่านั้น

พระพุทธศาสนาแบบไทยเป็นพระพุทธศาสนาแบบวัด ชายไทยทั้งหลายล้วนบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาอยู่ในวัดชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในด้านการปกครอง สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงริเริ่มให้มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. ๒๔๔๕ (ค.ศ. ๑๙๐๒) เพื่อรวมอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ให้มาอยู่ที่ส่วนกลาง  วิธีการดังกล่าวนี้ ทำให้การปกครองระดับท้องถิ่นคล่องตัวขึ้น รวมทั้งได้จัดตั้งระบบสมณศักดิ์ขึ้นทั่วประเทศด้วย ในส่วนพระองค์เอง ก็ทรงดำรงพรหมจรรย์ตามพระธรรมวินัยด้วยความเคร่งครัดตลอดพระชนมชีพ แต่ความเคร่งครัดของพระองค์ก็มิได้ทำให้พระองค์ขังหรือปิดกั้นพระองค์ไว้แต่ภายในกำแพงวัดเท่านั้น พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาเรียนรู้สภาพของสังคมทั่วพระราชอาณาจักร รายงานการเสด็จออกไปตรวจการคณะสงฆ์ของพระองค์ ยังคงเป็นผลงานทางวรรณกรรมที่สำคัญอยู่จนทุกวันนี้ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่างพ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๖๔ (ค.ศ. ๑๙๑๐- ๑๙๒๑) 

คำอธิบายเกี่ยวกับภาษาโบราณและโบราณคดีของสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสนั้นมีรายละเอียดปรากฏอยู่ในพระนิพนธ์คำแปลและพระอธิบายในเรื่องการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าโดยนายวิลเลียมเคลกส์ตันเปปเปวิศวกรและผู้ครอบครองที่ดินของจักรภพอังกฤษที่เมืองปิประฮะวาใกล้กับชายแดนประเทศเนปาลและใกล้กับลุมพินีสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าในประเทศเนปาลเมื่อเดือนมกราคมพ.ศ. ๒๔๔๑ (ค.ศ. ๑๘๙๘) หลังจาการค้นพบไม่นานรัฐบาลอินเดียก็ได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุที่นายเปปเปขุดค้นพบดังกล่าวแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวพระราชทานแก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาอื่นๆอีกหลายประเทศตามคำแนะนำของสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสเกี่ยวกับเรื่องพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวนี้สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสก็ได้โปรดให้จัดพิมพ์ผลของการศึกษาจารึกอักษรพรหมีซึ่งเป็นจารึกที่เก่าที่สุดของพระเจ้าอโศกแห่งอินเดียเป็นหนังสือไว้ด้วยนับเป็นตำราเกี่ยวกับจารึกพระเจ้าอโศกที่จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้  สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสยังได้ทรงจัดพิมพ์ตำราสำหรับการศึกษาอักษรภาษาบาลีสากลที่เรียกว่า อักษรอริยกะ ขึ้นด้วย อักษรอริยกะดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนกของพระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้น และอักษรอริยกะนี้ได้ใช้กันเป็นสากลระหว่างประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่นกับภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้

เดวิด เค. ไวอาต นักประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นปัญญาชนแห่งสยามที่โดดเด่นในยุคของพระองค์ สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสไม่เคยเสด็จไปต่างประเทศ แต่พระองค์ทรงรอบรู้เกี่ยวกับผลงานของนักคิดคนสำคัญๆ ของโลกได้อย่างทะลุปรุโปร่ง โดยการอ่านและวิพากษ์วิจารณ์ด้วยพระองค์เอง และพระองค์ก็ทรงนำเอาความรู้ใหม่ๆ ดังกล่าวนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันของพระองค์ รวมถึงนำมาปรับใช้กับสังคมด้วย

มรดกทางอักษรศาสตร์หรือทางวรรณกรรมของพระองค์นั้น ไม่อาจจะบรรยายให้ครบถ้วนได้ด้วยถ้อยคำสั้นๆ พระองค์ทรงพระนิพนธ์อัตชีวประวัติที่เรียกได้ว่าเป็นอัตชีวประวัติเรื่องแรกสุดในวรรณกรรมไทย เป็นอัตชีวประวัติที่น่าอ่านมาก เพราะได้เล่าถึงชีวิตของพระองค์ว่าได้รับการเลี้ยงดูมาในพระราชวังอย่างไร พัฒนาการทางสติปัญญาของเจ้านาย มีความสัมพันธ์กับชีวิตในวัดอย่างไร เจ้านายต้องเผชิญกับปัญหาทางสังคมของสยามอย่างไร ซึ่งเรื่องต่างๆ ดังกล่าวนี้ นับว่าเป็นข้อมูลหรือแหล่งความรู้ที่สำคัญของประวัติศาสตร์สังคมในยุคของพระองค์  หลักสูตรภาษาบาลีและหลักสูตรการศึกษา พระพุทธศาสนาแบบใหม่ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของตำราเรียนพระพุทธศาสนา นั่นคือ ทำให้เกิดการพิมพ์ตำราเรียนเป็นเล่มหนังสือและนำความคิดสมัยใหม่เข้ามาสู่การศึกษา พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ตำราทั้งสำหรับการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ทั้งสำหรับการศึกษาของกุลบุตร  พระนิพนธ์เรื่องวินัยมุข ซึ่งเป็นข้อแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับพระวินัยของพระภิกษุนั้น เป็นการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหน้าที่หรือข้อปฏิบัติของพระสงฆ์เกี่ยวกับพิธีกรรมหรือสังฆกรรม และข้อปฏิบัติอื่นๆ ที่ปฏิบัติกันมานมนานนับร้อยๆ ปี ในปีพ.ศ. ๒๔๓๗ (ค.ศ. ๑๘๙๔) พระองค์ได้ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ ซึ่งมีความหมายว่า ดวงตาแห่งธรรมหรือดวงตาเห็นธรรม นับเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนาฉบับแรกของไทยที่ยังออกมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากกว่าร้อยปีแล้ว พระองค์ทรงสนพระทัยในวิทยาการหลากหลายสาขา และทรงบูรณาการในวิชาการหลากหลายสาขาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเรื่องการคณะสงฆ์เท่านั้น คือทรงศึกษาและทรงพระนิพนธ์เรื่องทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี จริยศาสตร์ และจริยธรรมสังคม

สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส แม้จะทรงดำรงพระชนม์อยู่เพียง ๖๑ ปี แต่พระองค์ก็เป็นทรงเป็นอัจฉริยบุคคล เป็นนักปราชญ์ และเป็นนักวรรณกรรมที่น่าอัศจรรย์ จากศึกษารายการหนังสือในห้องสมุดที่สำคัญๆ ทั่วโลก ก็พบว่ามีพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วถึง ๔๘๔ เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นหนังสือเรื่องต่างๆ ถึง ๔๔๐ เล่ม พระนิพนธ์ของพระองค์หลายเล่มได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ พระนิพนธ์ของพระองค์หลายเล่มได้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ภาษาเขมร และภาษาอินโดนีเซียด้วย ในรายการวิทยานิพนธ์ของห้องสมุดต่างๆ ทั่วโลกพบว่า มีหนังสือหรือเรื่องเอกเทศที่มีเนื้อหาอ้างอิงหรือกล่าวถึงพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสถึง ๒๔๔ เรื่อง

กล่าวโดยสรุป เมื่อพิจารณางานพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสทั้งหมดแล้ว ก็สรุปได้ว่า ผลงานของพระองค์มีประเภทต่างๆ ดังนี้

  • บาลีไวยากรณ์ ๖ เล่ม
  • ตำราเรียนภาษาอังกฤษ ๑ เล่ม
  • ตำราเรียนหลักสูตรนักธรรม ๑๒ เล่ม
  • ตำราทางพระพุทธศาสนา ๗๕ เล่ม
  • บทความทางพระพุทธศาสนา ๒๒ เรื่อง
  • บทความทางธรรมทั่วไป ๔๑ เรื่อง
  • เรื่องการศึกษา ๓๖ เรื่อง
  • เรื่องเกี่ยวกับพงศาวดาร ๒๒ เรื่อง
  • เรื่องทางศิลปศาสตร์ ๑๑ เรื่อง
  • เรื่องเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ๗๑ เรื่อง
  • เรื่องเกี่ยวกับภาษาบาลี ๑๒ เรื่อง
  • แปลคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๔๗ เรื่อง
  • อธิบายเกี่ยวกับการศึกษาของพระพุทธศาสนา ๒๑ เรื่อง
  • วรรณนาพระสูตร ๑๓ เรื่อง

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงแปลภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส เป็นภาษาไทยอีกมาก อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าความรู้ของพระองค์นั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในสยามเท่านั้น แต่กว้างขวางไปทั่วโลก

สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงได้รับการเลี้ยงดูมาให้รู้จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างดีที่สุดด้วยความซื่อสัตย์ พระคุณธรรมข้อนี้ ได้ทำให้พระองค์เป็นผู้ชาญฉลาดในแวดวงของพระราชวงศ์และในวงการของคณะสงฆ์ในเวลาต่อมา พระองค์ไม่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่อันสูงส่งของพระองค์แสวงหาผลประโยชน์ส่วนพระองค์ แต่กลับทรงอุทิศพละกำลังความสามารถของพระองค์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ พระองค์ทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อทำให้สยามประเทศของพระองค์ทันสมัยแข่งกับเวลาที่ระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อันเป็นเหตุให้อิสรภาพอันเป็นที่หวงแหนของสยามประเทศพลอยถูกอิทธิพลของจักรวรรดินิยมคุกคามไปด้วย และด้วยการทรงงานอย่างหนักดังกล่าวนี้เองได้ทำให้พระสุขภาพพลานามัยของพระองค์ทรุดลงในอีกไม่กี่ปีต่อมา เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางการสื่อสารทำให้โลกติดต่อสัมพันธ์กันได้อย่างใกล้ชิดรวดเร็วกว่าแต่ก่อน ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง  แต่สมเด็จกรม-พระยาวชิรญาณวโรรสก็ทรงสามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้อย่างทันท่วงทีและทรงใช้พระอัจฉริยภาพของพระองค์แก้ไขปัญหาต่างๆที่ทรงเผชิญไปได้ด้วยดี

สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเป็นบุคคลที่โดดเด่นเป็นพิเศษในยุคของการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความทันสมัยของโลกพระองค์ทรงมีส่วนร่วมในทุกการเคลื่อนไหวทรงมีความจริงใจและซื่อสัตย์ในทุกหน้าที่ที่ทรงปฏิบัติการศึกษาและการปกครองทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองที่พระองค์ทรงอุทิศพระองค์ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นนั้นได้มีผลอย่างลึกซึ้งต่อสังคมของสยามประเทศในทุกระดับตลอดมาปัจจุบันเราอยู่ในยุคของความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุวิสัยพร้อมกับการสงวนรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเองพวกเราจะต้องทำให้ประชาชนเกิดสำนึกเช่นเดียวกับสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณ-วโรรสที่ทรงเต็มพระทัยที่จะทรงเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายและประหยัดทรงอุทิศพระองค์ให้กับการพัฒนาความรู้และสังคมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยด้วยความเสียสละ

เป็นการสมควรที่จะยกย่องชีวิตและผลงานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้เป็นแบบอย่างและเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รู้จัก ในฐานะที่เป็นบุคคลตัวอย่างดีเด่นในการใช้ชีวิตอันชาญฉลาดเพื่อรับใช้มนุษยชาติ พวกเราจึงขอเสนอสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นบุคคลสำคัญของโลกของยูเนสโก ในโอกาสฉลองวาระครบ ๑๐๐ ปีแต่วันสิ้นพระชนม์

สมเด็จพระสมณะ_0002(expand)S copy
พระมหาสมณภาษิต

บุคคลสำคัญของโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔

"พึงประกอบธุระให้เหมาะแก่กาลเทียว"

— สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.

"Patience Prohibits Abruptions."

— สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.

"Moderation always bears Good Results."

— สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.

"Moral shame and Moral dread indeed Protect the World."

— สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.
Scroll to Top