สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กับศตวรรษแห่งการพัฒนา
ด้านการศึกษาอบรม
ก็คือการสั่งสอนอบรมจิตใจของประชาชนให้มีศีลธรรมคุณธรรม ซึ่งก็ต้องอาศัยกระบวนการของการศึกษานั่นเองเป็นสื่อ หรือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ จะเห็นได้ว่าพระดำริอันเป็นหลักทางการศึกษาที่ทรงพระดำริขึ้นสำหรับโรงเรียนของมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้นทรงพระดำริตั้งขึ้นนั้น ประกอบด้วยเนื้อหา ๔ ส่วน คือ
๑. วิชาความรู้ ที่ควรรู้ในชั้นนั้น ๆ
๒. การประกอบการหรือการประกอบอาชีพที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนในชั้นนั้น ๆ
๓. การฝึกหัดกิริยามารยาททางสังคม
๔. การอบรมธรรมจริยา คือศีลธรรม คุณธรรม
ด้านภาษา
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้นก็ได้ทรงวางแนวในการศึกษาภาษาไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ได้ทรงอธิบายไว้ว่า ภาษาที่ควรศึกษา
๑. ภาษาของตนเอง
๒. ภาษาโบราณ
๓. ควรศึกษาภาษาต่างประเทศที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ที่สำคัญพระองค์หนึ่งของไทย ทรงรอบรู้หลายภาษา คือ บาลี สันสกฤต อังกฤษ ฝรั่งเศส และละติน ด้วยพระปรีชาสามารถทางอักษรศาสตร์ นำให้พระองค์ทรงสร้างผลงานด้านวรรณกรรมไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งในภาษาไทย และภาษาบาลี รวมทั้งพระนิพนธ์บางเรื่องในภาษาอังกฤษด้วยนอกจากนี้ ยังทรงพระปรีชาสามารถในภาษาโบราณด้วย ดังจะเห็นได้ว่าทรงอ่านและอธิบาย จารึกโบราณไว้หลายเรื่อง พระอัจฉริยภาพทางอักษรศาสตร์ของพระองค์ดังกล่าวนี้ เราจะเห็นได้จากผลงานพระนิพนธ์ประเภทต่างๆของพระองค์ซึ่งมีเกือบ ๔๐๐ เรื่อง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระเกียรติคุณทางด้านวัฒนธรรม
คำว่า วัฒนธรรม มีความหมายครอบคลุมวิถีชีวิตของมนุษย์ในทุกด้าน นับแต่การกิน การอยู่ การแต่งกาย ที่อยู่อาศัย การพูด การทำภาษา การศึกษา สติปัญญา ตลอดถึง ลัทธิศาสนาความเชื่อของคนนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้วัฒนธรรมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เช่น เป็นวัฒนธรรมของชาติก็คือ ภาษา และวัฒนธรรมของชาติจะเจริญงอกงามได้ ก็ด้วยการศึกษาอบรม และที่สำคัญ สิ่งที่เป็นหัวใจของวัฒนธรรมไม่ว่าของชาติใด ๆ ก็คือ จิตใจของคนในชาตินั้น ๆ ฉะนั้น เมื่อพูดถึงวัฒนธรรม จึงมีสิ่งที่มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของวัฒนธรรม คือ การศึกษาอบรม ภาษา และจิตใจ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้น ทรงมีบทบาทสำคัญในด้านวัฒนธรรมของไทยไม่น้อย โดย เฉพาะอย่างยิ่งองค์ประกอบสำคัญทางวัฒนธรรมที่กล่าวมาข้างต้น คือ การศึกษาอบรม ภาษา และจิตใจ
เรื่องการศึกษา ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้นได้ทรงมีพระมหากรุณาธิการ และคุณูปการเป็นอันมากทั้งทางการศึกษาฝ่ายคณะสงฆ์และการศึกษาฝ่ายบ้านเมือง
เรื่องการอบรม ก็คือการสั่งสอนอบรมจิตใจของประชาชนให้มีศีลธรรมคุณธรรม ซึ่งก็ต้องอาศัยกระบวนการของการศึกษานั่นเองเป็นสื่อ หรือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ จะเห็นได้ว่าพระดำริอันเป็นหลักทางการศึกษาที่ทรงพระดำริขึ้นสำหรับโรงเรียนของมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้นทรงพระดำริตั้งขึ้นนั้น ประกอบด้วยเนื้อหา ๔ ส่วน คือ
๑. วิชาความรู้ ที่ควรรู้ในชั้นนั้น ๆ
๒. การประกอบการหรือการประกอบอาชีพที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนในชั้นนั้น ๆ
๓. การฝึกหัดกิริยามารยาททางสังคม
๔. การอบรมธรรมจริยา คือศีลธรรม คุณธรรม
และเพื่อผลดีในการอบรมธรรมจริยาตามหลักสูตรที่ทรงตั้งขึ้นนี้เอง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้น จึงได้ทรงพระนิพนธ์เรื่อง “เบญจศีล เบญจธรรม” ขึ้นซึ่งได้ใช้เป็นตำราสอน “วิชาธรรมจริยา” ในโรงเรียนมาแต่ครั้งนั้น และหลักสูตรสำหรับโรงเรียนของมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งมีเนื้อหาดังกล่าวนี้เองที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้น ทรงใช้ในการจัดการศึกษาในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักรดังกล่าวมาแล้วข้างต้น นี้คือการสร้างสรรค์ในทางวัฒนธรรม
ในด้านภาษา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้นก็ได้ทรงวางแนวในการศึกษาภาษาไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ได้ทรงอธิบายไว้ว่า ภาษาที่ควรศึกษา คือ
๑. ภาษาของตนเอง ควรศึกษาให้รู้ดี ถ้ารู้ภาษาของตนเองไม่ดี เรียนภาษาอื่นก็รู้ได้ยาก จะแปลภาษาของตนเป็นภาษาอื่นก็ทำได้ยาก
๒. ภาษาโบราณ ควรศึกษาเพื่อจะได้รู้เรื่องราว ขนบธรรมเนียม อัธยาศัยใจคอ ความคิด ความเชื่อของคนโบราณที่เราเกิดไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาโบราณที่เกี่ยวข้องกับภาษาของตน
๓. ควรศึกษาภาษาต่างประเทศที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจะได้รู้ความเป็นไปของชาวต่างประเทศ เป็นเครื่องบำรุงหรือพัฒนาความคิดของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือควรเรียน ภาษาที่แสดงวิชาความรู้ไว้มาก และคนในโลกใช้กันมา
ในส่วนพระองค์เอง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้นก็ทรงรอบรู้ภาษาหลายภาษา คือ บาลี สันสกฤต อังกฤษ ฝรั่งเศส ทรงอาศัยความรู้ทางภาษาดังกล่าวนี้แสวงหาวิชาความรู้พัฒนาพระองค์เอง พร้อมทั้งทรงใช้พระปรีชาสามารถทางภาษาสร้างวรรณกรรมอันทรงคุณค่าทางการศึกษา ทั้งทางธรรมและทางโลกไว้มากมาย ไม่น้อยกว่า ๔๐๐ เรื่อง หลายเรื่องเป็นพระนิพนธ์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง เช่น พระนิพนธ์เรื่อง “นวโกวาท” เป็นหนังสือทางพระพุทธศาสนาที่แพร่หลายมากที่สุด ฉบับ “แบบเรียนเร็ว” พระนิพนธ์เรื่อง “พุทธประวัติ” นับเป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพุทธประวัติเชิงวิชาการสมัยใหม่ มีการอ้างอิงทางโบราณคดีเล่มแรกของประเทศไทย พระนิพนธ์เรื่อง “วินัยมุข” ทรงพระวินิจฉัยข้อพระวินัยต่าง ๆ ส่วนข้อไหนที่มีความไม่ชัดเจน พระองค์ก็ฝากไว้ให้ “บัณฑิตผู้รู้” รุ่นหลังช่วยวิเคราะห์ต่อ อย่างที่พระองค์นิพนธ์ไว้ในคำนำของหนังสือวินัยมุข พ.ศ. ๒๔๕๖ ไว้ว่า “นิสัยของข้าพเจ้าไม่เชื่อคำที่กล่าวไว้ในปกรณ์ทั้งหลาย เลือกเชื่อแต่คำที่สมเหตุสมผล... ตั้งหลักแห่งการรจนาไว้ว่า ข้อที่พิจารณาได้สมเหตุสมผล จึงจะถือเอาเป็นประมาณ ข้อที่พิรุธ ก็ต้องค้างติงไว้ ไม่ว่ามาในบาลีหรือในอรรถกถา และแสดงมติของข้าพเจ้าไว้บ้าง เพื่อเป็นทางดำริของนักวินัย ข้าพเจ้า มุ่งความเจริญแห่งความรู้เป็นที่ตั้ง ถ้าน้อมใจเชื่อเป็นญาณวิปปยุตแล้ว ความรู้ย่อมไม่เจริญเลย” เป็นการแสดงความเป็นต้นแบบของความ23
เป็น “นักวิชาการ” สมัยใหม่ของพระองค์ คือเปิดโอกาสให้วิพากษ์ได้อย่างเสรี แม้ในการนิพนธ์ “พระประวัติตรัสเล่า” พระองค์เคยมีพระประสงค์ไม่ให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพแต่งพระประวัติของท่านต่อ ด้วยเกรงว่า “...จะยกแต่ความชอบความดีมาสรรเสริญ ท่านประสงค์จะให้มีทั้งติแลสรรเสริญทั้ง ๒ อย่าง...” หรือความอีกตอนหนึ่งว่า “...พระประวัติของท่านนั้น ถ้าใครแต่งไม่ต้องการจะให้สรรเสริญอย่างเดียว ข้อใดที่ควรติให้ติ จึงจะพอพระหฤทัยดังนี้...” เป็นการแสดงคุณสมบัติของ ผู้ทรงเป็นต้นแบบของนักวิชาการ ที่อนุชนควรนำมาเป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง
ผลงานทางวรรณกรรมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้นได้ก่อให้เกิดผลทางวัฒนธรรมของสังคมไทยทั้งสังคมสงฆ์และสังคมชาวเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะวัฒนธรรมของความเป็นนักวิชาการเสรีที่พระองค์ปฏิบัติทำให้ดูเป็นตัวอย่าง